สาระน่ารู้

     ป่าชายเลนเป็นสังคมพืชที่ขึ้นตามชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะบริเวณอ่าวและปากแม่น้ำในเขตร้อน (Tropical) และเขตกึ่งร้อน (Subtropical) ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิดมักจะพบในกลุ่มประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยพบว่ามีพื้นที่ป่าชายเลนกระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกกลาง ภาคใต้ ฝั่งตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ป่าชายเลนที่มีสภาพสมบูรณ์ส่วนใหญ่มักจะอยู่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก




     สภาพทั่วไปของสังคมพืชป่าชายเลนเป็นดินเลนหรือดินเลนปนทราย ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนที่ถูกพัดพามาตามแม่น้ำลำธารหรือกระแสน้ำ อยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ หรืออ่าวที่มีน้ำทะเลท่วมถึงในช่วงที่มีน้ำทะเลขึ้นสูงสุด บริเวณดังกล่าวมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างน้ำจืดกับน้ำทะเลกลายเป็นน้ำกร่อยที่มีสภาพความเค็มแตกต่างกัน และปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ป่าชายเลนจึงเป็นระบบนิเวศที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นดินกับน้ำทะเล มีความอ่อนไหวและเปราะบาง และเปลี่ยนแปลงสภาพไปตามทิศทางการผันแปรของกระแสน้ำและคลื่นลม ในสภาวการณ์ปกติป่าชายเลนทำหน้าที่เป็นแนวปราการธรรมชาติที่คอยปกป้องชายฝั่งทะเลไม่ให้ถูกทำลายจากกระแสคลื่น เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ในขณะเดียวกันสัตว์บกสามารถเข้ามาอาศัยและแสวงหาอาหารที่มีอยู่อย่างอุดมสมบรูณ์ในป่าชายเลน ทำให้ป่าชายเลนหลากหลายไปด้วยสิ่งมีชีวิตทั้งพืชน้ำและสัตว์นานับชนิด


     พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้วงศ์โกงกาง (Rhizophoraceae) เป็นสำคัญ และไม้สกุลอื่นขึ้นปะปนอยู่ด้วย พันธุ์ไม้ป่าชายเลนเหล่านี้จะขึ้นเป็นแนวเขตหรือโซนที่ค่อนข่างแน่นอน คือจากบริเวณชายฝั่งน้ำจนลึกเข้าไปด้านใน ซึ่งลักษณะอันนี้เป็นเอกลักษณ์ของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่มีการขึ้นแตกต่างไปจากป่าบกทั้งหลายปัจจัยที่ทำให้การขึ้นของพันธุ์ ไม้ป่าชายเลนขึ้นอยู่เป็นแนวเขตหรือเป็นโซนมีหลายปัจจัยด้วยกัน คือ ความถี่ของการท่วมถึงของน้ำทะเลลักษณะทาง กายภาพและเคมีภาพของดิน ความเค็มของน้ำในดิน การระบายน้ำ กระแสน้ำและความเปียกชื้นของดิน เป็นต้น นอกจากพันธุ์ไม้ป่าชายเลนยังมีการปรับตัวให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพเวดล้อมเหล่านี้ที่สำคัญได้แก่ การมีระบบรากค้ำจุนหลากหลายชนิด ช่วยในการค่ำจุนและหายใจ มีผลที่งอกตั่งแต่อยู่บนต้นและลอยน้ำได้ ช่วยในการแพร่กระจายมีต่อมขับเกลือและผิวใบมันสะท้อนแสง เพื่อควบคุมระบบน้ำในลำต้น


ป่าโกงกาง
      เป็นสถานที่อนุรักษ์ป่าโกงกางใกล้กับที่ตั้งของเรือรบหลวงประแสบริเวณปากแม่น้ำประแส ปัจจุบันเทศบาลตำบลปากน้ำประแสได้ก่อสร้างสะพานไม้ เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไปในป่าโกงกางได้อย่างสะดวกและใกล้ชิดธรรมชาติ เพื่อการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติของป่าโกงกางไม้ประจำถิ่นของชาวน้ำเค็ม


บ้านปากน้ำประแส
      เป็นชุมชนริมแม่น้ำประแสแต่ดั้งเดิม เมื่อคราวสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จผ่านมาทางภาคตะวันออก ได้ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันถึงปากน้ำประแสนี้ไว้ว่า มองจากปากน้ำประแสเข้าไปมีบ้านเรือนอยู่ราวร้อยหลังคาเรือน ภายหลังเสด็จคืนพระนครได้พระราชทานที่ดินและชื่อแก่วัดสมมติเทศฐาปนาราม (วัดแหลมสน) ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ตั้งกองทหารเป็นตลาดริมน้ำของชาวไทย จีน มาแต่เก่าก่อน อาชีพหลัก คือ การทำประมงเพาะเลี้ยงกุ้ง ทำแมงกะพรุน ทำปลากรอบ กะปิ น้ำปลา สภาพบ้านเรือนเก่า ๆ ยังมีเหลือให้ได้คิดถึงวันคืนในอดีตอย่พอสมควร


 เรือรบหลวงประแส
      เป็นเรือรบซื้อต่อมาจากมลรัฐแคลิฟอเนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกองทัพเรือได้นำเข้าประจำการเมื่อปี พ.ศ. 2498 และปลดประจำการไปเมื่อปี พ.ศ. 2543 และเทศบาลตำบลปากน้ำประแส ได้ประสานงานนำมาจอดไว้บริเวณปากแม่น้ำประแสฝั่งตรงข้ามวัดสมมติเทพฐาปนาราม (วัดแหลมสน) เพื่อเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของบ้านปากน้ำประแส เมื่อปี พ.ศ. 2546 เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีความน่าสนใจยิ่ง




เขตอนุรักษ์ป่าชายเลนลุ่มแม่น้ำประแสและเกาะนก
      โดยเทศบาลตำบลเมืองแกลงเป็นบริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำประแสและเกาะนก เทศบาลเมืองแกลงได้เริ่มเสริมระบบนิเวศชายฝั่งด้วยการปลูกต้นโกงกางและประสัก นับแต่ปี 2545 เป็นต้นมาโดยเชิญชวนผู้สนใจและกลุ่มชมรมต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมนี้ รวมปลูกแล้วกว่า 7,000 ต้น บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของนกประจำถิ่นอย่างนกกระยางขายาว นกเป็ดน้ำในฤดูกาลย้ายถิ่นช่วยฤดูหนาว ด้วยมีอาหาร กุ้ง หอย ปูปลาอันอุดมสมบูรณ์สำหรับมันเป็นสถานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการส่องกล้องดูนก


การชมหิ่งห้อย
      ริมฝั่งแม่น้ำประแสจากท่าน้ำสามย่านไปจนถึงบริเวณบ้านแหลมท่าตะเคียน บ้านแหลมยาง ปากลัด ลัดในเกาะนก มีต้นลำพูขนาดต่าง ๆ ขึ้นอยู่อย่างดารดาษ เป็นที่อาศัยของหิ่งห้อยที่แปล่งแสงระยิบระยับยามค่ำคืน เพราะน้ำมีคุณภาพดี และมีอาหารอันอุดมสมบูรณ์เป็นโปรแกรมเด่นที่สุดในการท่องแม่น้ำประแสยามค่ำ ซึ่งให้ทั้งความตื่นตา และอุราได้สุขใจ